top of page

“ซุ้มประตูป่า” อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเทศกาลยี่เป็ง

“ซุ้มประตูป่า” อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเทศกาลยี่เป็ง ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับความเชื่อและการบูชาของชาวล้านนามาแต่ดั้งเดิม


ซุ้มประตูป่า หมายถึง ปากทางเข้าสู่ป่า ลักษณะเป็นเสา ตั้งอยู่ชายหมู่บ้าน ใช้เป็นบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมสำหรับหมู่บ้าน ซึ่งจะมีการเตรียมตกแต่งซุ้มประตูป่าก่อนถึงวันยี่เป็ง 1-2 วัน โดยนำต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย ต้นข่า โคมหูกระต่าย โคมเงี้ยวหรือโคมชนิดอื่นๆ ดอกไม้ต่างๆ เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ฯลฯ ตกแต่งเป็นซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม



จากความเชื่อดั้งเดิม เพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรในวันยี่เป็ง ครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง ซึ่งปรากฏในเวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า




และส่วนสำคัญในวันยี่เป็งคือ เป็นซุ้มที่ใช้จุดผางประทีป เพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ โดยจุดไว้ในโคมหูกระต่ายหรือโคมชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในการประดับตกแต่ง



แม้ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องซุ้มประตูป่าจะเลือนหายไปบ้าง แต่การตกแต่งซุ้มประตูป่าในเทศกาลยี่เป็งยังคงพบเห็นกันอย่างแพร่หลาย ทั้ง ชุมชน วัด บ้านเรือน รวมไปถึงร้านค้า และโรงแรมต่างๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้มีการจัดกิจกรรมประกวดซุ้มประตูป่าในแต่ละชุมชน เพื่อให้เห็นความสวยงามของประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอีกด้วย


สำหรับปีนี้ก็มีกิจกรรมเกี่ยวกับการตกแต่งซุ้มประตูป่ารออยู่อีกมากมาย รอติดตามกันได้เลย!


อ้างอิงข้อมูล : https://lannainfo.library.cmu.ac.th/.../yeepeng...

bottom of page